จรรยาบรรณทางธุรกิจ

  1. 1. นโยบาย

    บริษัทฯ ดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมทุกอย่างและข้อตกลงทางธุรกิจทุกประการที่บริษัทฯ เข้าทำ เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ ความยึดมั่นในคุณธรรม ความเป็นมืออาชีพ ความเสมอภาค จรรยาบรรณ และความเคารพต่อบุคคลอื่น โดยอย่างน้อยที่สุด บริษัทฯ จะต้องไม่ละเมิดกฎหมายในประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ซึ่งก็หมายความว่า ในทางปฏิบัตินั้น ไม่ว่า บริษัทฯจะดำเนินการใดๆ จะต้องยึดหลักมาตรฐานสูงสุด หลักการคือการดำเนินการของบริษัทฯ ก็คือการดำเนินการของพนักงานทุกคนภายในบริษัทฯ ดังนั้น นโยบายนี้จึงมีผลครอบคลุมการดำเนินการใดๆ ของพนักงานของบริษัทฯ ด้วย

  2. 2. การนำนโยบายไปใช้ในทางปฏิบัติ

    นโยบายนี้กำหนดให้พนักงานทุกคนจะต้องมีความตระหนักและมีความรับผิดชอบในทุกขณะเวลาที่ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทฯ พนักงานแต่ละคนมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบทบาทที่พนักงานทำให้ อย่างไรก็ตาม พนักงานแต่ละคนจะต้องปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อทำให้มั่นใจว่าบริษัทฯ มีหลักการดำเนินงานที่เป็นไปตามหลักจริยธรรมอยู่เสมอ

    ในทางปฏิบัติ บริษัทฯ ไม่สามารถจะแสดงรายการพฤติกรรมที่ผิดศิลธรรมจรรยาทั้งหมดโดยระบุเป็นข้อๆ ได้ แต่ตัวอย่างพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณด้านล่างนี้ จะสามารถสามารถอธิบายสิ่งที่พนักงานควรพึงตระหนักที่จะหลีกเลี่ยงในการดำเนินงาน

    • การแสดงรายการบัญชีอันเป็นเท็จ
    • การรับสินบนจากบริษัทผู้ขายวัตถุดิบ (supplier) เพื่อแลกกับการออกใบสั่งซื้อให้
    • การนำทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต
    • การร้องขอเงื่อนไขการสั่งซื้อที่เป็นพิเศษจากผู้ขายวัตถุดิบเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว
    • การให้ข้อมูลของบริษัทแก่บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับการมอบหมาย
    • การให้ข้อมูลผลการวิเคราะห์สินแร่ที่ได้จากกระบวนการสำรวจแร่หรือการขุดเจาะแบบระบุคุณภาพสินแร่และปริมาณ (grade control drilling) แก่บุคคลภายนอก
    • การนำความรู้ที่ได้รับจากการทำงานกับบริษัทฯไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
    • การฉวยโอกาสหรือการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของบริษัทหรือประโยชน์ส่วนตัว.
    • การนำเงินทุนของบริษัทฯ ไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
    • การให้สินบนที่เป็นเงินสดหรือสิ่งของแก่ผู้ขายวัตถุดิบ เพื่อโน้มนำหรือควบคุมการกระทำหรือการตัดสินใจของผู้ขายวัตถุดิบหรือเพื่อให้ได้รับบริการที่ดีขึ้นจากผู้ขายวัตถุดิบ

    ข้อมูลความลับและข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท

    ข้อมูลที่ปรากฏในบันทึก รายงาน เอกสาร กระบวนการ แผนงาน และวิธีการของบริษัทฯ ถือเป็นความลับและเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ทั้งสิ้น พนักงานไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตเว้นเสียแต่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะได้รับการตีพิมพ์ออกสู่สาธารณชนมาก่อนหน้านี้

    ข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ ทั้งที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้นเองและที่ได้มาจากแหล่งอื่น ซึ่งรวมถึงข้อมูลความลับทางการค้า ข้อมูลด้านเทคนิค และข้อมูลด้านการเงินและธุรกิจ นั้น ถือเป็นสินทรัพย์ทรงค่าที่ต้องรักษาเป็นความลับให้พ้นจากการสูญหาย การโจรกรรม และการนำไปใช้ในทางที่ผิด ข้อมูลความลับและ ข้อมูลที่ไม่เปิดเผยแก่สาธารณชนเกี่ยวกับกิจกรรม ผลการดำเนินงาน หรือแผนงานของบริษัทสามารถเปิดเผยได้ในกรณีที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น บริษัทไม่อนุญาตให้มีการนำข้อมูลความลับและข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

    บริษัทฯ สงวนกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในข้อมูลที่พัฒนาขึ้นโดยพนักงานของบริษัทในขณะที่พนักงานดังกล่าวยังทำงานกับบริษัทอยู่ ตัวอย่างของข้อมูลดังกล่าว เช่น การประดิษฐ์ การออกแบบ การค้นพบ หรือโปรแกรมซอฟท์แวร์ต่างๆ เป็นต้น

    ลิขสิทธิ์ในผลงานที่พัฒนาขึ้นโดยพนักงาน

    ผลงานวิจัย การทดลอง การคิดค้น และพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และอื่นใดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในอนาคต หากเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นในระหว่างที่ผู้พัฒนาอยู่ในระหว่างการจ้างงานกับบริษัทฯ พัฒนาขึ้นในเวลางาน ในสถานที่ หรือใช้ทรัพยากรของบริษัทฯ ในการพัฒนา ลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นๆ ตกเป็นของบริษัทฯ นอกจากนั้น พนักงานต้องไม่นำผลงานของบุคคลอื่นมาอ้างเป็นผลงานของตน แล้วนำมาใช้ในบริษัทฯ ซึ่งอาจทำให้บริษัทฯ เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นได้

    เงื่อนไขการจ้างงานของบริษัทฯ ห้ามไม่ให้พนักงานนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทฯ ไปเปิดเผยแก่ธุรกิจอื่น บริษัทอื่น ตัวแทนสื่อมวลชน และ/หรือบุคคลอื่นใด โดยไม่ได้รับการมอบหมายที่เหมาะสม ทั้งนี้ ข้อห้ามเปิดเผยดังกล่าวครอบคลุมถึงรายละเอียดเงื่อนไขการจ้างงานของบริษัทฯ ซึ่งต้องเก็บเป็นความลับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างด้วย

    นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังกำหนดเงื่อนไขพิเศษสำหรับบุคลากรของบริษัทฯ ที่เป็นชาวต่างชาติ เนื่องด้วยบุคลากรนั้นมีฐานะเป็นผู้มาเยือนประเทศไทย เงื่อนไขดังกล่าวปรากฏตามรายละเอียดในภาคผนวก ก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของจรรยาบรรณทางธุรกิจฉบับนี้ด้วย

  3. 3. กระบวนการ

    พนักงานฝ่ายจัดการทุกคน พนักงานระดับอาวุโสทุกคน พนักงานในฝ่ายบัญชีทุกคน และพนักงานอื่นใดที่หัวหน้าหน่วยงานเห็นว่ามีความจำเป็น จะต้องลงนามในบันทึกยอมรับในการปฏิบัติและความเข้าใจในนโยบายนี้เมื่อนโยบายออกบังคับใช้ เมื่อได้รับการจ้างงานจากบริษัทฯ และในเดือนมกราคมของปีถัดไป ทั้งนี้ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมบันทึกแสดงการยอมรับดังกล่าว

    จรรยาบรรณธุรกิจนี้จะถูกแจกจ่ายให้แก่พนักงานใหม่โดยแนบพร้อมไปกับจดหมายตอบรับการจ้างงาน

    บริษัทฯ กำหนดให้พนักงานทุกคนต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflicts of interest) ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ผลประโยชน์ที่พนักงานมีอยู่ในบริษัทที่ให้บริการหรืออาจให้บริการแก่บริษัทฯ ในอนาคต หรือบริษัทที่เกี่ยวข้อง

    พนักงานใดที่สงสัยว่าพนักงานคนอื่นมีพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณ ฉ้อโกง หรือผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่บริษัทฯ จะต้องรายงานต่อหัวหน้าฝ่ายงาน หรือผู้จัดการทั่วไป/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยบริษัทฯ รับรองว่า ในกรณีที่การรายงานดังกล่าวกระทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ รายงานดังกล่าวจะถูกเก็บเป็นความลับและผู้ที่รายงานจะได้รับการปกป้องจากผลกระทบใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการรายงานนั้นๆ ด้วย

    พฤติกรรมที่ถูกรายงานจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดโดยผู้จัดการทั่วไป หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยพนักงานผู้ที่รายงานพฤติกรรมดังกล่าวให้บริษัทฯ ทราบจะได้รับแจ้งข้อมูลความคืบหน้าในการตรวจสอบหากว่าการแจ้งความคืบหน้านั้นสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ

  4. 4. บทลงโทษทางวินัย

    พนักงานที่ถูกพบเห็นว่าละเมิดนโยบายนี้จะได้รับบทลงโทษทางวินัยที่สมควรตามความผิดโดยไม่ได้รับเงินค่าชดเชย